Data Steward คืออะไร
Data Steward มีชื่อเรียกภาษาไทยว่าบริกรข้อมูล มีหน้าที่กำหนดนโยบายในการดูแลรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลที่ใช้ในองค์กรมีความถูกต้อง เชื่อถือได้ เข้าถึงได้ง่าย และมีความมั่นคงปลอดภัย อาชีพ Data Steward จึงเป็นอาชีพที่มีความสำคัญมากขึ้นในทุกองค์กร โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล การมีข้อมูลที่มีคุณภาพ มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ และเข้าถึงได้ง่าย ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความได้เปรียบขององค์กร
ทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคคลที่เป็น Data Steward
1. ความรู้ด้านข้อมูล
Data Steward ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นประเภทของข้อมูล รูปแบบข้อมูล กระบวนการจัดเก็บข้อมูล และความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูล เช่น Data Governance และ Data Quality การมีความรู้ด้านข้อมูลเป็นอย่างดีจะช่วยให้ Data Steward สามารถกำหนดนโยบายในการดูแลรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของข้อมูลได้อย่างมีระบบ
2. ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล
Data Steward ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมาก เนื่องจาก Data Steward ต้องสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพของข้อมูล รวมถึงการหาปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ข้อมูลที่ซ้ำซ้อนหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
3. ทักษะการสื่อสาร
Data Steward จำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดีเนื่องจากต้องสื่อสารกับทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านเทคนิคและไม่ใช่เทคนิค การอธิบายปัญหาหรือแนวทางการปรับปรุงข้อมูลให้เข้าใจง่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากสื่อสารผิดพลาดการทำงานอาจผิดพลาดได้
4. ทักษะการจัดการโครงการ
Data Steward ต้องมีความสามารถในการวางแผนและจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูล รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานและการประเมินผล
5. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย
ในยุคที่มีข้อกำหนดทางกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับข้อมูล เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA)ที่ สร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล Data Steward ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการบริหารข้อมูลขององค์กรเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
6. ทักษะด้านเทคโนโลยี
Data Steward ควรมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการข้อมูล เช่น ระบบจัดการฐานข้อมูล (DBMS) โปรแกรมประมวลผลข้อมูล และเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Tableau หรือ Power BI การเชี่ยวชาญในเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้ Data Steward สามารถจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
7. ความละเอียดรอบคอบ
ทักษะนี้สำคัญมากในการตรวจสอบข้อมูล เพราะความผิดพลาดเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการตัดสินใจขององค์กร ความละเอียดรอบคอบในการทำงานจะช่วยให้ Data Steward สามารถป้องกันข้อผิดพลาดและปรับปรุงคุณภาพข้อมูลได้
8. ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจและกระบวนการทำงานในองค์กร
Data Steward ต้องมีความรู้ความเข้าใจธุรกิจและกระบวนการทำงานภายในองค์กร (Business Domain) เป็นอย่างดี เพราะองค์กรแต่ละองค์กรมีความรู้และวิธีดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง การเข้าใจ Business Domain เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวางแผนธุรกิจ การกำหนดกลยุทธ์ และการทำการตลาด และการจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
Data Steward เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการข้อมูลขององค์กร การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงานเหล่านี้จะช่วยให้ Data Steward สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมคุณภาพและความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น