กฎหมาย AI คืออะไร

กฎหมาย EU AI Act เป็นกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ฉบับแรกของโลก ที่กำหนดมาตรฐานการกำกับดูแล AI โดยตรง กฎหมายนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภายุโรป (European Parliament) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 และได้ผ่านการอนุมัติจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of the EU) อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 พฤษภาคม 2024 ซึ่ง EU AI Act จะเริ่มมีผลบังคับใช้ทีละขั้นตอนตามกรอบระยะเวลาที่แตกต่างกัน และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบประมาณปี 2026

EU AI Act จะควบคุมด้านไหนบ้าง ?

เป้าหมายหลักของ EU AI Act คือการสร้างกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนและควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ยุติธรรม มีความโปร่งใส เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คน สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถพัฒนา เติบโต และขยายตัวภายใต้การควบคุมในกฎหมายนี้ได้เช่นเดียวกัน

สรุปสาระคัญของกฎหมาย EU AI Act

กฎหมายมีการแบ่งประเภท AI ตามระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับและมีการกำหนดข้อบังคับทางกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ได้แก่

  1. ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable risk) :  ข้อบังคับทางกฎหมาย คือ ห้ามใช้งานในสหภาพยุโรปเพราะอาจทำให้เกิดอันตราย ตัวอย่างเช่น ระบบให้คะแนนบุคคลจากพฤติกรรมหรือการจดจำอารมณ์ในที่ทำงาน หรือ ของเล่นที่สามารถสั่งการด้วยเสียงที่ส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อเด็ก
  2. ความเสี่ยงสูง (High risk) : ข้อบังคับทางกฎหมายมีการอนุญาตให้ใช้งานได้แต่ต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองก่อน ตัวอย่างเช่น ระบบ AI ในการจัดหาบุคลากรหรือระบบความปลอดภัยของยานยนต์
  3. ความเสี่ยงจำกัด (Limited risk)  :ข้อบังคับทางกฎหมายขึ้นอยู่ระบบปัญญาประดิษฐ์บางระบบที่มีการระบุข้อกำหนด ด้านความโปร่งใสไว้เป็นการเฉพาะ โดยผู้ใช้ควรต้องทราบว่าพวกเขากำลังทำการโต้ตอบกับระบบนั้น ๆ อยู่ เช่น Chatbots หรือ Deepfake หรือ AI generated content
  4. ความเสี่ยงน้อยที่สุด (Minimal risk) : ไม่มีข้อบังคับทางกฎหมาย  ได้แก่ AI ส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายในตลาดของสหภาพยุโรป เช่น ระบบกรองสแปมหรือการจัดแต่งรูปภาพ 

ขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมาย

กฎหมายนี้มีขอบเขตการบังคับใช้ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการและผู้ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งภายในและภายนอกสหภาพยุโรปที่นำ AI เข้าสู่ตลาดยุโรป รวมถึงผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ผลิตที่รวม AI ในผลิตภัณฑ์ของตน นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงบุคคลหรือพลเมืองในสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการใช้งาน AI

จะเห็นได้ว่า EU AI Act ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้อย่างชัดเจนและครอบคลุม แม้ว่ากฎหมายนี้จะไม่ได้บังคับใช้ในประเทศไทย แต่หน่วยงานไทยที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมาย EU AI Act ในหลายด้าน โดยเฉพาะหากมีการส่งออกหรือให้บริการ AI ในตลาดสหภาพยุโรป เนื่องจากต้องเตรียมตัวรับมือกับข้อกำหนดของ EU AI Act และต้องปรับปรุงธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

และอาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตประเทศไทยอาจจะมีในกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นเพื่อควบคุมเทคโนโลยี AI ฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น โดยการศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมาย EU AI Act และตื่นตัวในการปรับปรุงและพัฒนาระบบ AI ให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อตอบรับกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่กำลังก้าวหน้าและมีบทบาทอย่างมากในสังคมโลก